ชมรมรักษ์ลุ่มน้ำปากพนัง สนองพระราชดำริ ร่วมกับ สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ ได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง วิกฤติข้าวภาคใต้ นา…ข้าวลุ่มน้ำ ฯ ไปทางไหน ณ ห้องประชุมสารูป สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน (พนางตุง) มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

นายบริรักษ์ ชูสิทธิ์ ชมรมรักษ์ลุ่มน้ำปากพนัง สนองพระราชดำริ กล่าวโดยสรุปว่าปัจจุบันการผลิตข้าวในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปี ๒๕๖๕/๖๖ ใน ๓ จังหวัด (ตัดยอด ๒๔ มกราคม ๖๖)
มีพื้นที่รวมกันเพียง ๓๑๐,๕๘๙ ไร่ (นครศรีธรรมราช ๑๒๑,๐๒๙ ไร่ สงขลา ๙๗,๐๘๖ ไร่ พัทลุง ๙๒,๔๗๔ ไร่) ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลปี ๒๕๖๔/๖๕ ซึ่งมีพื้นที่ ๔๑๓,๑๙๑ ไร่ (นครศรีธรรมราช ๑๗๙,๓๓๓ ไร่ สงขลา ๑๒๒,๐๗๐ ไร่ พัทลุง ๑๑๐,๗๘๘ ไร่) จะเห็นว่าพื้นที่ทำนาลดค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่จะมีการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนเช่น ปาล์มน้ำมัน
ขณะเดียวกันเมื่อมาดูข้อมูลของโรงสีข้าวในพื้นที่ ๓ จังหวัด เฉพาะที่ได้จดทะเบียนกับกรมการค้าภายในปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่ามีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น ๔,๓๔๕ ตัน/ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่าผลผลิตข้าวในพื้นที่ ทั้ง ๓ จังหวัด ๓๑๐,๕๘๙ ไร่ จำนวน ๑๓๙,๗๖๔ ตัน (คิดผลผลิตที่ ๔๕๐ กิโลกรัม/ไร่) โรงสีใช้เวลาสีเพียงเดือนกว่าๆ ซึ่งเวลาที่เหลือโรงสีจะต้องแบกดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ
จากประเด็นปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไป ปัญหาต่างๆ ย่อมกระทบกับทุกๆ ฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหาเรื่องข้าวในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ การแก้ปัญหาต่างจึงต้องทำแบบมียุทธศาสตร์ กล่าวคือ
ต้องปลูกข้าวที่กินและกินข้าวที่ปลูก เพราะปัจจุบันการปลูกข้าวในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ พันธุ์ข้าวที่ปลูกจะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งตลาดส่วนใหญ่นิยมข้าวนิ่ม อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวห้อมปทุม ฯลฯ แต่ในพื้นที่นิยมปลูกข้าวพื้นแข็ง เช่น พันธุ์ชัยนาท สุพรรณบุรี พิษณุโลก พันธุ์ กข. ฯลฯ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ควรจะมีการบูรณาการในการวางแผนทำงานร่วมกัน ควรได้กำหนดพันธุ์ข้าวแต่ละพื้นที่เพื่อตอบสนองตลาด ทั้งพันธุ์ข้าพื้นเมือง ข้าวส่งเสริม ข้าวอินทรีย์ ร่วมทั้งส่งเสริมให้มีพันธุ์ข้าวที่เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI:Geographical Indications)อย่างเช่น “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพ/ราคา เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำนาอย่างยั่งยืน
